NOOPRAEW

ไม่มีใครรักเราเท่าพ่อกับแม่


Leave a comment

การเพาะเห็ด

ปกติเห็ดฟางเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ง่ายแต่ด้วยจะรอธรรมชาติอย่างเดียวคงไม่พอกับความต้องการที่จะบริโภค

ของมนุษย์ มนุษย์ก็เลยคิดค้นการเพาะเห็ดฟางขึ้นมาหลายวิธี แต่วิธีที่พอจะเป็นแนวทางให้ปฏิบัติหรือทำได้ ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อน
เราเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง ก็คือเอาวัสดุเช่นฟางมากองไว้แล้วเอาเชื้อโรยเห็ดก็ขึ้น แล้วก็เก็บยาวเป็นเดือน

วิธีที่สองดัดแปลงเป็นการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพาะในไร่นาบ้างเพาะหลังบ้านบ้างโดยการมีแบบพิมพ์แล้วใช้วัสดุยัดลง
ไปในแบบพิมพ์ ถอดแบบพิมพ์ออกมาแล้วก็เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยก็ทำกันมานานพอสมควรหลายสิบปี ปัจจุบันก็ยังมี
ทำอยู่ก็ดัดแปลงไปตามความเหมาะสมของท้องถิ่น
วิธีที่สามเป็นวิธีการเพาะเห็ดฟางที่กรมวิชาการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับการผลิตเห็ดฟาง เพื่อให้ได้มาก ๆ เรียกว่า
การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน บางทีเรียกว่าการเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม ผลิตครั้งหนึ่งได้เป็นนับ 100 กิโลกรัม อันนี้เป็น
การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน ต่อจากนั้นมาก็มีการพัฒนาการเพาะเห็ดเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ จะเพาะในปริมาณที่มาก
ก็ได้ น้อยก็ได้ แล้วก็มีความสะดวก มีความสะอาด แล้วก็มีการเพาะเห็ดฟางแบบคอนโดเป็นชั้น ๆ หลังจากนั้นก็มีการเพาะเห็ดฟาง
แบบในตะกร้า และสุดท้ายการเพาะเห็ดฟางในถุง

หากจะพิจารณาข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธีแล้ว จะแยกค่อนข้างยาก เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เพาะ สมมติว่าในชนบท
ต้องการจะมีเห็ดฟางกินอย่างยาวนาน ทำครั้งเดียวแล้วเก็บได้เป็นเดือน ก็เพาะแบบกองสูง แต่ผลผลิตของกองสูงนั้นไม่แน่นอน บาง
ทีก็ขึ้น บางทีก็ไม่ขึ้น บางทีขึ้นมาก จนไม่สามารถควบคุมขนาด สี ความสะอาดหรือสิ่งที่เราต้องการได้อย่างเหมาะสม ขึ้นกับสิ่ง
แวดล้อมควบคุมไม่ได้
ถ้าหากมีวัตถุประสงค์เพาะเพื่อจำหน่ายแบบกองสูงจะไม่ทันก็มีการเพาะแบบกองเตี้ยอยู่ในลักษณะที่ทำเพื่อมีรายได้เสริมใน
ครอบครัว ทำในเฉพาะครอบครัวทำมากไม่ได้เพราะใช้แรงงานมาก ถ้าต้องการทำในวันหนึ่งให้ได้ 100 กิโลหรือมากกว่า
100 กิโลกรัม คือ จะต้องมีตลาด หรือส่งโรงงาน ก็จะเป็นเห็ดฟางแบบโรงเรือน มีการลงทุนมากทำกันแบบทุกอย่างพลาดไม่ได้ ต้อง
มีความรู้ทางวิชาการค่อนข้างสูง มีวัสดุ มีทุน เป้าหมาย คือ ทำเพื่อขายอย่างเดียว หลังจากนั้นถ้าจะทำหลากหลายรวม ๆ กัน เช่น
เพื่อพักผ่อนบ้าง หรือทำไว้กินบ้าง เช่น เพื่อให้มีรายได้ วิธีเดียวที่จะขายได้ทุกอย่าง คือ การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า เพราะว่าหนึ่ง
ตะกร้ามีพื้นที่การออกในด้านสูงมาก ตะกร้าเดียวจะได้เห็ดเป็นกิโล

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้านี้เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟางที่ประยุกต์ขึ้นมา แต่เดิมนั้นการเพาะเห็ดฟางแบบทั่วไปใช้พื้นที่ใน
แนวราบ มาตรฐานของการเพาะเห็ดฟางในพื้นที่ราบ 1 ตารางเมตรถ้าผลผลิตได้ถึง 3 กิโลถือว่ายอดเยี่ยมการเพาะเห็ดฟางแบบใน
ตะกร้าจะใช้พื้นที่ในแนวสูงกับแนวราบของพื้นที่ตะกร้าที่เป็นทรงกระบอก โดยสามารถใช้ตะกร้าซักผ้า ตะกร้าใส่ผลไม้ ตะกร้าใส่ปลา
ของชาวประมง คือไม่สูงมากประมาณ 1 ฟุต รอบ ๆ ตะกร้าจะมีตามีช่องด้านบนเห็ดก็สามารถออกได้ และสามารถนำตะกร้าซ้อนกัน
ได้หลายชั้น เป็นลักษณะของการเพิ่มพื้นที่การออกดอกของดอกเห็ด ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีทำเหมาะกับทุกรูปแบบ
จุดคุ้มทุนที่เหมาะสม คือ จากการเก็บตัวเลขในกระบวนวิจัย 1 ตรม. สามารถวางได้ถึง 9 ตะกร้า โดยวางชั้นเดียว
เมื่อ 1 ตรม. วางได้ถึง 9 ตะกร้า จะได้เห็ดไม่ต่ำกว่า 1 กก. ต่อ 1 ตะกร้า เพราะฉะนั้น 1 ตรม.ได้อย่างน้อย 9 กก. เปรียบเทียบ
แบบกอง คือ 3 กก. แบบตะกร้าได้มากกว่า แนวทางในการพัฒนาตรงนี้ค่อนข้างจะเป็นที่สนใจของนักวิชาการ และผู้สนใจที่จะ
เพาะเห็ดอยู่มาก

วัสดุที่เพาะเห็ดฟางในประเทศไทยมีมากมายมหาศาล ตัวอย่างเช่น ฟางข้าวเปลือก ถั่วทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง
ถั่วเขียว ถั่วแขก เปลือกมันสำปะหลัง ก็สามารถใช้ได้ดี ต้นข้าวโพดแห้ง ๆ เอามาสับ ๆ แล้วแช่น้ำก็สามารถนำมาเพาะได้ ผักตบชวา
จอกหูหนู ต้นกล้วยหั่นตากแห้ง ทะลายปาล์ม หรือผลปาล์ม ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนหรือขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือขี้เลื่อยทำเพาะเห็ดทุกชนิด
แล้วยังสามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ กระดาษก็สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ กระสอบป่านเก่า ๆ ก็ใช้ได้
นอกจากนี้ยังมีงานทดลองอีกอย่าง คือ ขุยมะพร้าว ภาคใต้มีมาก หลังจากเอาเส้นใยออกแล้ว ขุยมะพร้าวมักจะเอามาทำต้นไม้
อย่างเดียวแล้ว ยังสามารถเอาขุยมะพร้าว 2 ส่วนผสมกับขี้วัว 1 ส่วน ก็สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ มีความชื้นและมีอาหารจากขี้วัว
เมื่อนำมาเพาะเห็ดฟางแล้วจะได้ประโยชน์จากการใช้สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์มากขึ้น
ในการเลือกวัสดุอย่างฟางข้าวนั้นจะพบปัญหามากเพราะว่าฟางข้าวมีสารเคมีที่เกษตรกรใช้มีสารพิษตกค้างจนทำให้เป็นพิษ
ต่อผู้บริโภคเห็ดฟางได้ ตัวอย่างเช่น สารเคมีกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม นอกจากจะทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญเติบโตแล้ว เมื่อคนนำ
มาบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการเป็นพิษ ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดแมลงที่เกษตรกรใช้ ก็มาสู่คนเมื่อบริโภคเข้าไปก็เป็นพิษ

แต่อย่างไรก็ตามวัสดุทุกอย่างทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำมาเพาะเห็ดฟาง พึงสำนึกว่าต้องสะอาด ปลอดสารเคมี อยู่ใน
ท้องถิ่นจะดีที่สุด ต้นทุนจะต่ำ ความหลากหลายของวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ วัสดุใดที่เป็นพิษโดยธรรมชาติ อย่านำมาใช้ เช่น ต้นพืชที่มี
ฤทธิ์เมา เมื่อนำไปเพาะเห็ดสารพิษนี้จะถูกให้ดูดซึมเข้าไปสู่ผู้บริโภคจะทำให้เมาได้
ขั้นตอนในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าไม่ยุ่งยาก ถ้าใครเคยเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยแล้ว ทุกอย่างเหมือนกัน แค่ยกมาใส่
ตะกร้า หมายความว่าชั้นที่หนึ่งเป็นวัสดุเพาะ คือ พวกฟางข้าว เปลือกถั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะผสมผสานกันก็ได้ ชั้นที่หนึ่งวัสดุ
ชั้นที่สองเป็นอาหารเสริม อาจจะใส่นุ่น ผักตบชวาสดแล้วก็โรยด้วยเชื้อเห็ดฟาง เชื้อเห็ดฟางอาจจะคลุกเคล้าด้วยแป้งสาลี แป้งข้าว
เหนียวหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าคลุกเคล้าจะทำให้เส้นใยเดินได้เร็ว ก็จะได้ชั้นที่หนึ่ง หลังจากนั้นก็ทำเหมือนชั้นที่หนึ่งก็มีวัสดุเพาะ มีอาหาร

เสริมแล้วก็เชื้อเห็ดเสร็จแล้วทำชั้นที่สาม ชั้นที่สามจะแตกต่างจากชั้นที่หนึ่ง ชั้นที่สองก็คือ ด้านบนจะโรยอาหารเสริมทั้งหมดเต็มพื้น
ที่ของผิวตะกร้า แล้วโรยเชื้อเห็ดทั้งหมดคลุมด้วยวัสดุเล็กน้อยกดให้แน่น ๆ ให้ต่ำกว่าปากตะกร้าประมาณ 1 ช่องตา รดน้ำประมาณ
2 ลิตร รดทั้งด้านบนตะกร้าและด้านข้างตะกร้า ยกใส่กระโจมเล็ก ๆ หรือใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ถุงใส ถุงดำจะไม่มีดอก หรือ
ตะกร้าเดียวก็เอาเข่งครอบแล้วเอาพลาสติกคลุม อีกที หรือทำ 4-5 ตะกร้าเอาสุ่มไก่ครอบพลาสติกคลุมในที่ร่มและชื้น ประมาณวันที่
สี่ก็เปิดสำรวจดูว่ามีเส้นใยมากไหม ถ้ามากก็ตัดเส้นใยสัก 5 – 10 นาที แล้วคลุมไว้อย่างเดียว ตอนเปิดถ้าตะกร้าแห้งก็รดน้ำ
นิดหน่อยประมาณวันที่ 7 – 8 ก็เก็บผลผลิตได้ โดยผลผลิตจะออกมาตามตาที่รอบ ๆ ตะกร้า เทคนิคการโรยเชื้อเห็ดชั้นที่ 1 – 2
คือโรยให้ชิดขอบตะกร้า ตรงกลางไม่ต้องโรย ชั้นที่ 3 โรยให้เต็ม

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้ามีค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. ตะกร้าพลาสติกขนาดสูง 11 นิ้ว ปากตะกร้ากว้างประมาณ 18 นิ้ว มีตาห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ตะกร้าใบหนึ่งใช้ได้หลายครั้ง
อาจใช้ได้นานเกิน 20 ครั้งขึ้นไป ราคาใบละประมาณ 30 บาท
2. ชั้นโครงเหล็ก ใช้เหล็กแป๊ปสี่เหลี่ยมขนาด 6 หุน มาทำเป็นโครงเหล็กให้ได้ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร สูง 2 เมตร
ยาง 2 เมตร ซึ่งโครงเหล็กมี 4 ชั้น สามารถวางตะกร้าเพาะได้ 40 ใบ ราคาโครงเหล็กประมาณ 705 บาท
3. แผ่นพลาสติกสำหรับคลุมชั้นโครงเหล็ก ใช้แผ่นพลาสติกใสขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ราคาประมาณ 60 บาท
4. โรงเรือน ซึ่งโรงเรือนเป็นไม้ลักษณะของโรงเรือน คือนำไม้มาประกอบกันซึ่งสร้างให้มีขนาดใหญ่ จนสามารถครอบชั้น
โครงเหล็กได้ ราคาโรงเรือนทั้งหมดประมาณ 900 – 1,000 บาท
5. วัสดุเพาะ อาจใช้ฟางหรือก้อนขี้เลื่อยที่ผ่านการเพาะเห็ดถุงมาแล้ว ใช้ 9 ก้อนต่อ 1 ตะกร้า ราคาเฉลี่ยประมาณก้อนละ
50 สตางค์ รวมเป็นเงินต่อตะกร้าประมาณ 4 – 5 บาท

6. อาหารเสริม เราสามารถใช้ผักตบชวาหั่นประมาณ 1 ลิตรต่อตะกร้าคิดเป็นเงินรวมตะกร้าละไม่ถึง 1 บาท
7. ค่าเชื้อเห็ดฟางแบบอีแปะถุงละประมาณ 2 บาท
8. ค่าจ้างแรงงานเพาะคิดเป็นเงินตะกร้าละ 3 บาท
9. ค่าจ้างดูแล คิดเป็นเงินต่อตะกร้าละประมาณ 5 บาท
10. ค่าจ้างแรงงาน เพื่อการเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต่อผลผลิตกิโลกรัมละประมาณ 5 บาท
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันบาทต้น ๆ แต่หากลบค่าใช้จ่ายเรื่องโรงเรือนออกไป ราคาเห็ดฟางต่อหนึ่งตะกร้าจะลง
ทุนเพียงประมาณไม่ถึง 50 บาท เท่านั้น

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

การเพาะเห็ดฟาง มีหลายวิธี การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจ เนื่องด้วย

  • สามารถเพาะในพื้นที่ซ้ำเดิมได้ โดยปกติต้องเปลี่ยนสถานที่เพาะเนื่องจากปัญหาการสะสมของโรค แมลง
  • วัสดุเพาะไม่สัมผัสพื้นดิน ลดปัญหาในเรื่องของเชื้อโรคที่มาจากพื้นดิน
  • ต้นทุนในการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะแบบโรงเรือนปกติ

วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

วัสดุเพาะ

  • หัวเชื้อเห็ดฟาง อายุ 7 วัน (สังเกตจากมีเส้นใยสีขาวขึ้นบนก้อนเชื้อ)
  • ก้อนเชื้อเห็ดเก่า
  • ฟางข้าว
  • ต้นกล้วย
  • ชานอ้อย
  • อาหารเสริม เช่น ผักตบชวา มูลวัว ไส้นุ่น รำละเอียด
  • อาหารกระตุ้นหัวเชื้อ ได้แก่ แป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว
  • น้ำสะอาดชล

วัสดุเพาะ

  • ตะกร้าเพาะเห็ดฟาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูง 11 นิ้ว มีช่องขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้านล่างเจาะรูทำช่องระบายน้ำ
  • พลาสติกคลุม
  • สุ่มไก่ หรือวัสดุอื่นๆ สำหรับทำเป็นโครง

วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

  1. ชั้นที่ 1 เริ่มที่นำเชื้อเห็ดฟาง ขนาด 1 ปอนด์ แกะใส่ภาชนะ และฉีกหัวเชื้อเป็นชิ้นเล็ก แล้วโรยแป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว แบ่งหัวเชื้อเห็ดออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน (หัวเชื้อ 1 ถุง ทำได้ 2 ตะกร้า) จากนั้นนำวัสดุเพาะ (ฟางข้าว) มารองก้นตะกร้าให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว (กดให้แน่น ๆ) หรือสูงถึง 2 ช่องล่างของตะกร้า แล้วโรยอาหารเสริม (ผักตบชวา) ให้ชิดขอบตะกร้า หนาประมาณ 1 นิ้ว หรือสูงประมาณ 1 ช่องตะกร้า และนำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน วางรอบตะกร้าให้ชิดขอบตะกร้าเป็นจุด ๆ
  2. ชั้นที่ 2 ให้ทำแบบเดิม ในส่วนชั้นที่ 3 ให้ทำเหมือนชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 แต่เพิ่มการโรยอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ด้านบนให้หนา 1 นิ้ว แล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางให้เต็มที่ โดยกระจายเป็นจุด ๆ ด้านบนตะกร้า โดยให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน จากนั้นโรยวัสดุเพาะ อาทิ ฟางข้าว ด้านบนอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษาการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

นำตะกร้าเพาะไปวางบนพื้นโรงเรือน หรือชั้นโครงเหล็กที่เตรียมไว้ หรือจะยกพื้นวางอิฐบล็อก หรือไม้ท่อนก็ได้ เตรียมสุ่ม 1 สุ่ม สำหรับตะกร้า 4 ใบ โดยตะกร้า 3 ใบวางด้านล่างชิดกัน และวางด้านบนอีก 1 ใบ ให้ตะกร้าห่างจากสุ่มไก่ประมาณ 1 คืบ จากนั้นนำพลาสติกมาคลุมสุ่มไก่จากด้านบนถึงพื้น แล้วนำอิฐ หรือไม้ทับขอบพลาสติก เพื่อไม่ให้พลาสติกเปิดออก

ช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังเพาะ ในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน และวันที่ 1 ถึง 7 วันแรกในช่วงฤดูหนาว ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ในกระโจม หรือโรงเรือน ให้อยู่ในช่วงระหว่าง 37-40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 38 องศาเซลเซียส ในระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส เพราะในระหว่างวันที่ 5-7 จะมีการรวมตัวกันของเส้นใย เป็นดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก ระหว่างนี้ห้ามเปิดพลาสติก หรือโรงเรือนบ่อย เพราะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อ

ประมาณวันที่ 7-8 ในฤดูร้อน หรือวันที่ 9-10 ในฤดูหนาว เห็ดฟางจะเริ่มให้ดอกขนาดโต จึงจะเก็บเกี่ยวได้ โดยการเก็บควรทำตอนเช้ามืด เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลอกยังไม่แตก ดอกยังไม่บาน ถ้าปล่อยให้ปลอกแตก และดอกบานแล้วค่อยเก็บ จะขายได้ราคาต่ำ การเก็บควรใช้มีดสะอาดตัดโคนเห็ด ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอกควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทีเดียว ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โต และฝ่อตายไป

ผลผลิตเห็ดฟางสามารถเก็บได้ 2-3 ครั้ง เก็บเห็ดได้เฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อตะกร้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เพาะ การดูแลรักษา ฤดูกาล และวิธีการปฏิบัติ สำหรับต้นทุน และผลตอบแทน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยครั้งที่ 1 60-80 บาท ต่อตะกร้า หากเป็นการเพาะครั้งที่ 2-6 ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ 20-40 บาทต่อตะกร้า (ไม่มีค่าตะกร้า) ราคาขายผลผลิตเห็ดโดยเฉลี่ย 70 บาทต่อกิโลกรัม ผลกำไรเฉลี่ย 10-50 บาทต่อกิโลกรัม